ฉันกับนางฟ้าตัวกลม ตอนที่3 นิยายอ่านฟรีจบเรื่อง
ฉันกับนางฟ้าตัวกลม ตอนที่3
ก่อนถึงป่าบลูเบอร์รี่
ในขณะที่ผมเขียน “I &The Big Aangels ฉันกับนางฟ้าตัวกลม” ตอน ก่อนจะถึงป่าบลูเบอร์รี่ อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมขนาด 24 ตร.ม. บนถนนแฮปปี้แลนด์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย นางฟ้าตัวกลมหรืออาเจ่ตัวกลมกำลังนอนอ่าน “สวนเฟิร์นสันเขา” (Fern Ridge Park) อยู่บนเตียงพยาบาลสีขาวภายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาผ่าน Facebook สายออกซิเจนระโยงรยางค์รอบตัวเธอ ทำให้ผมต้องเร่งเขียนตอนที่ 3 ให้จบ เพราะภาพที่เธอส่งมาให้เมื่อวาน ทำให้ผมแทบจะร้องไห้ ผมคิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ด้วย ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน
มันเป็นช่วงเวลาอึดอัดที่ยาวนาน ผมใช้ความรู้สึกนึกย้อนกลับสู่ช่วงเวลานั้น…หากมีเพียงช่อดอกไม้สวยๆ วางอยู่ใกล้ๆ ก็ส่งผลถึงจิตใจผู้ป่วยและญาติได้อย่างมหาศาล ครับผมไม่สามารถส่งกุหลาบสีโอโรสที่ผมรักสุดชีวิตให้เธอได้ ผมจึงทำได้แค่เร่งส่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเราให้เธออ่านแทน อาเจ่ตัวกลมเคยบอกว่าเธออ่านภาษาไทยได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่สามารถเขียนได้…ผมก็หวังลึกๆ ว่าเธอจะได้อ่านและเข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการสื่อ ผมอยากได้ยินเสียงหัวเราะรัวลั่นอันเป็นเสน่ห์ ผมอยากจะเห็นเธออาระวาด ฟาดงวงฟาดงาแบบแม่ช้างอ้วนๆ ตกมันเร็วๆ Take Care my big angels Love Love
เอาละ…ในที่สุดพวกเราก็เกือบถึงป่าบลูเบอร์รี่ ผมหมายถึงฟาร์มของพ่อไอ้เบ๊บละ และระหว่างที่รถกำลังแล่นอยู่บนถนน 216st. มุ่งตรงไปยังถนน 40Ave. อันเป็นเป้าหมายนั้น ผมต้องขออธิบายข้อมูล ข้อเท็จจริงคร่าวๆ เกี่ยวกับบลูเบอร์รี่ให้ทุกท่านเข้าใจกันสักนิดพอเรียกน้ำย่อยก่อนนะครับ
บลูเบอร์รี่อดีตก็คือผลไม้ป่า คล้ายกับต้นบักต้อนแล้น บักเล็บแมว บักคางครกแถวบ้านผมนะแหละ (ชื่อผลไม้ที่พูดถึงเป็นภาษาอีสานใครรู้ชื่อทางการกรุณาขยายความต่อให้เพื่อนๆที่สงสัยด้วยก็แล้วกัน ขอบคุณมาก) แต่เมื่อมีคนจีน คนอินเดียอพยพเข้าไปอยู่ในแผ่นดิน CANADA พวกเขาจึงช่วยกันบุกเบิกและนำผลไม้ป่าหลายชนิดมาปลูกเอาไว้กินเอง ข้อมูลนี้อาเจ่ตัวกลมเธอผมเป็นคนเล่าให้ฟัง ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดต้องขออภัยไว้ ณ.ตรงนี้เลย ถ้าใครอยากรู้เพิ่มเติมสามารถค้นหาข้อเท็จจริงในInternet เสริมต่อยอดอีกทางหนึ่ง
แรกๆ พวกเขาตั้งใจจะปลูกเอาไว้กินเองนั้นแหละ แต่มันกลับขายได้ พวกเขาเลยค่อยขยาย พัฒนาสายพันธุ์ จนเป็นฟาร์มกว้างสุดลูกหูลูกตาอย่างปัจจุบัน ครับการเก็บบลูเบอร์รี่ในแวนคูเวอร์ไม่ได้เป็นไปอย่างผมเคยจินตนาการตอนยังอยู่เมืองไทย เดิมนึกว่าจะต้องหิ้วตระกล้าเข้าป่าปีนเขาเป็นวันๆสุดท้ายก็จบที่ฟาร์มพ่อไอ้เบ๊บ…(เดี๋ยวผมจะพูดถึงพ่อไอ้เบ๊บทีหลัง) การเก็บบลูเบอร์รี่ที่แวนคูเวอร์เป็นการเก็บในฟาร์มหรือบ้านเราเรียกว่าไร่นั้นแหละครับ หากจะเทียบภาพที่ใกล้เคียงที่สุดเห็นจะประมาณไร่ชาทางภาคเหนือ หรือสวนหม่อน ไร่มันสำปะหลังบ้านเราดีๆ นั้นเอง เดือนที่บลูเบอร์สุกเต็มที่ มีแค่ 2 เดือนใน 1 ปีครับคือต้นเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนสิงหาคม
การเก็บบลูเบอร์รี่จะเก็บประมาณ 2-3 รอบ รอบแรกบลูเบอร์รี่จะยังไม่สุกทั้งพวง จะเก็บได้เฉพาะลูกสีดำซึ่งรอบแรกจะเก็บยากสักหน่อย แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนชำนาญ รอบที่ 2 บลูเบอร์รี่จะสุกประมาณ 80-9 เปอร์เซ็นต์ ช่วงนี้แหละคนเก็บบลูเบอร์รี่จะโกยเงินเข้ากระเป๋าได้วันละหลายร้อยดอลล่าร์ต่อวัน พอรอบที่ 3 บลูเบอร์รี่เหลือน้อยละ ลูกติดต้นจะไม่สวยหาคนมาเก็บยากเจ้าของฟาร์มส่วนใหญ่จะใช้รถจักรมาเก็บและขายตรงสู่โรงงานทำไวน์
การเก็บบลูเบอร์รี่จะเก็บใส่ถาดพลาสติกขนาดกล่องใส่ผลไม้บ้านเรา แม่กับป้าจักกี้จะเรียกมันว่ากระแตะ เมื่อเก็บเต็ม 1 กระแตะก็จะยกไปวางไว้หน้าแถว เพื่อรอชั่ง ที่นี้เขาจะชั่งบลูเบอร์รี่เป็นพาวว์(Pound) ซึ่ง 1 พาวว์ (Pound) จะเท่ากับ 0.453 กิโลกรัม หรือ 1 กิโลกรัมจะเท่ากับ 2.2 พาวว์ (Pound) โดยประมาณ ส่วนค่าแรงงานเก็บบลูเบอร์รี่ 1 พาวว์เจ้าของฟาร์มแต่ละแห่งจะให้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความยาก-ง่าย แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 45 เซ็นต์ต่อ 1 พาวว์ อธิบายให้เข้าใจง่าย ถ้าเก็บได้ 1 กิโลกรัมนิดๆ คุณก็จะได้เงินละ 1 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 25.6 บาท ถ้าสวนไหน บลูเบอร์รี่ลูกใหญ่ พวงสวยๆ รูด 2 ทีก็ได้แล้ว 1 พาวว์ รูด 4-5 ทีก็จะได้ละ 1 กิโลกรัม…ประมาณนี้นะครับ
ขณะที่รถกำลังแล่นอยู่บนถนน 216st. “ไปทางไหนยายจักกี้” อาเจ่ตัวกลมถามขึ้น
“เลี้ยวซ้ายเข้าถนน 40 ตรงไฟแดงโน้น…แหมเมื่อวานพ่อไอ้เบ๊บนะตามฉันติดทั้งงงงงวัน จู้จี้จุกจิกน่ารำคาญที่สุ๊ดดด” ป้าจักกี้พึมพำขึ้นมาคนเดียว ซึ่งทำให้แม่ที่นั่งอยู่เบาะหลังข้างกันถึงกับหัวเราะกร๊ากๆ
“ก็เธอมันสวยนะจักกี้….ฮาๆๆๆ”
“พูดแต่คำว่า Slowly Jackky Slowly ทั้งงงงงวัน”
“เธอทำบลูเบอร์รี่หล่นพื้นเยอะไง พ่อไอ้เบ๊บเลยตามเก็บให้ ไม่ดีใจรึ” แม่ต้อยว่าต่อเพราะเมื่อวานแกไปเก็บกัน 2 คน
“พ่อไอ้เบ๊บมันก็แบบนี้แหละ มันลงทุนลางาน 2 เดือนเพื่อมาเก็บบลูเบอร์รี่ในฟาร์มโดยเฉพาะเลยนะ” อาเจ่ตัวกลมให้ข้อมูลเพิ่ม และพูดขึ้นอีก “กล้าแต่กับคนลาว คนไทย คนเวียด (คนเวียดนาม) คนจีน ทีคนอินเดียเพื่อนมัน ญาติมัน เงียบกริ๊บ!…”
“ช่ายยย! โมน่าพูดถูกต้อง เยี่ยมที่สู๊ดดดดด” คำสุดท้ายของป้าจั๊กกี้สูงแหลมปิ๊บบบบ สาวๆวัยดึกคุยกันอย่างออกรส ขณะที่ผมได้แต่มองป่าต้นเมเปิ้ล ต้นสนที่รกครึม สลับกับบ้านพักทรงแปลกตา 2 ข้างทางอย่างไม่รู้เบื่อ
“หนาวเนอะ” ผมพูดลอย ทำให้อาเจ่ตัวกลมที่นั่งข้างสับกะโหลกทีนึง “โอ้ย!”
“ยายต้อยเอ้ย ลูกชายแกบ่นว่าหนาว ฉันร้อนจะตายอยู่แล้วยังต้องทนเปิดฮิตเตอร์ให้มันอีก”
“ฉาน! ก็หนาวนะโมน่า เราพึ่งมาจากประเทศไทยนะใช่ไหม” แม่ออกรับแทน
“มันร้อนขนาดนั้นเลยรึยายต้อยที่เมืองไทยนะ” อาเจ่ตัวกลมถามขณะรถกำลังจะเลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 40 Ave.
“ร้อนมากๆ คะ…ป้าจักกี้ไปเมืองไทยเดือนมีนา เมษา แพลนกลับพฤษภาคม ยังต้องเลื่อนตั๋วกลับก่อนเลย…ร้อนม๊ากกกก” ป้าจักกี้ลากคำสุดท้ายจนสุดลมหายใจก่อนพูดต่อ “นั้นแหละ เลี้ยวขวาเข้าถนนดินข้างๆ เสาไฟฟ้านั้นแหละ นี้แหละ นี้แหละใช่เลยยยย”
“อ้าวเมื่อวานมากันอย่างไรอะป้า” ผมถามเพราะระยะทางจากบ้านรถถึงที่นี้ก็ไม่ใช่ใกล้ๆ
“สมพรมารับ มาส่งจ้า…เดี๋ยวจะแนะนำให้ทิมมี่รู้จัก”
“เช้าๆ ไอ้พรมันเก็บเห็ดรึยายจักกี้” อาเจ่ตัวกลมถาม
“ฟาร์มสมพรเห็ดกำลังจะออก อุ้ยย! มันเก็บเห็ดเช้าเดียวก็ได้ 200-300 ดอลฯ แล้ว เห็นโมน่าจะมารับเลยโทรบอกตั้งแต่เมื่อคืนวาน” ป้าจักกี้เสียงแหลมหวาน “พุ้นละ 8 โมง 9 โมงมันจึงจะมาถึง”….เอาละครับในที่สุดเรามาถึงป่าบลูเบอร์รี่สักที่ ผมเห็นพ่อไอ้เบ๊บยืนใส่หมากปีกกว้างแบบเอเชียยิ้มแป้นๆแบบแขกอินเดียรอใต้ต้นเมเปิ้ลละ….คราวหน้าจะพาไปรู้จักทั้งพ่อไอ้เบ๊บและไอ้เบ๊บ…ว่าทำไม้ ทำไม สาวๆถึงได้ชอบพูดถึงกันนัก…รอผมนะแล้วคุณจะรักมัน…หมายถึงไอ้เบ๊บนะ….
ครับ ผม Timmy Buto รายงานจากฟาร์มพ่อไอ้เบ๊บบนถนน 40 แลงเลย์ (Langley) แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา…เจอกันตอนที่ 4 เร็วๆ นี้ สวัสดีครับ…..