เราน์เตอร์เก่ามีค่า อย่าทิ้ง นำมาทำเป็นตัวขยายสัญญาณจากเราน์เตอร์ตัวใหม่ได้
เราน์เตอร์เก่ามีค่า
มาดูวิธีตั้งค่ากันเลย จัดการไปตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
เปลี่ยน และ ปิด
นำเราน์เตอร์เก่าไปต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับเราน์เตอร์ตัวไหนเลย จากนั้นเข้าสู่ระบบจัดการ โดยพิมพ์หมายเลขไอพีของเราน์เตอร์ผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นหมายเลข 192.168.1.1 พิมพ์ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้เรียบร้อย เมื่อเข้าได้แล้วให้ไปเปลี่ยนหมายเลขไอพีของเราน์เตอร์ ซึ่งต้องดูว่าเราน์เตอร์ตัวใหม่หมายเลขอะไร แล้วให้ตั้งค่าหมายเลขที่เครื่องเก่าไม่ให้ซ้ำ เช่น ตัวใหม่ที่ใช้งานอยู่หมายเลข 192.168.1.2 ตัวเก่านี้ก็จะต้องขยับออกไปเป็นหมายเลข 192.168.1.3
เมื่อเปลี่ยนหมายเลขไอพีเรียบร้อยแล้ว ให้กลับเข้าสู่ระบบจัดการอีกครั้ง ด้วยหมายเลขไอพีใหม่ จากนั้นให้เข้าไปปิดส่วนการแจกจ่ายไอพีของเราน์เตอร์ ที่เรียกว่า DHCP เพื่อไม่ให้เราน์เตอร์เครื่องนี้ทำหน้าที่เป็น DHCP Server นั่นเอง เพราะถ้าไม่ปิด คอมพิวเตอร์ หรือ มือถือ ที่รับสัญญาณจากเราน์เตอร์เครื่องนี้ไปจะเล่นอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ห้ามผ่านไปเป็นอันขาด
การปิด DHCP Server หน้าตาของเราน์เตอร์แต่ละยี่ห้ออาจแตกต่างกันไป แต่ก็ประมาณรูปข้างบน รูปที่ 1 นั่นคือ ตรงคำว่า Enable Primary DHCP Server: อย่าให้มีเครื่องหมายติ๊กถูก เพราะติ๊กถูกคือเปิด ส่วนปล่อยว่างไว้คือปิด ไม่ใช้งาน
สำหรับส่วนที่ต้องเปิดขึ้นมาเพื่อตั้งค่าก็คือ ส่วนของไวไฟ หรือตัว WLAN กำหนดชื่อสำหรับเลือกใช้งาน (SSID Name:) และรหัสผ่าน (WPA PreSharedKey:) ให้เรียบร้อย
นำไปต่อพ่วงเข้ากับเราน์เตอร์ตัวใหม่
เมื่อตั้งค่าตามหัวข้อที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมบันทึกการตั้งค่า จากนั้นถอดสายไปต่อพ่วงเข้ากับเราน์เตอร์ตัวใหม่ที่ใช้งานอยู่ ซึ่งออกอินเทอร์เน็ตได้ หรืออาจต่อเข้ากับ Switching HUB ก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ถูกส่งไปที่ Switching HUB ด้วยอยู่แล้ว
มีประโยชน์ แน่นอน หากตั้งค่าตามที่ได้อธิบายมาแล้วนำไปใช้งาน ตัวอย่างการใช้งานก็อย่างเช่น เราน์เตอร์ตัวใหม่ ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ วางอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคาร แน่นอนเราน์เตอร์เครื่องใหม่ส่งสัญญาณไวไฟได้ แต่ก็เฉพาะระยะที่จำกัดเท่านั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ชั้น 6 ของอาคารที่ต้องการขอแชร์ไวไฟด้วย หมดสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ หรือถ้าเข้าถึงได้สัญญาณก็อ่อนเต็มที
ด้วยระบบดั่งที่ได้อธิบายมา พร้อมกับเราน์เตอร์เครื่องเก่าช่วยได้ แค่ลากสาย LAN 1 เส้น จากชั้น 1 ขึ้นไปที่ชั้น 6 แล้วต่อพ่วงเข้าไปที่เราน์เตอร์ตัวเก่าที่ได้ตั้งค่าไว้แล้วตามขั้นตอนดั่งกล่าวข้างต้น เราน์เตอร์เครื่องเก่าก็จะช่วยกระจายสัญญาณให้อีกต่อหนึ่ง อุปกรณ์ที่ต้องการใช้อินเทอรเน็ตที่อยู่ชั้น 6 และชั้นใกล้เคียง สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้สบายๆ ไม่จากคนที่เล่นอยู่ชั้น 1 เลยทีเดียว
เรื่องราวเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตภายในองค์กร ครูป๋อง สอนคอมพ์ เขียน หวังว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย