ธรรมชาติผู้สร้างสรรค์ชีวิตได้สร้างสังคมมนุษย์ให้อยู่ในลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าสังคมที่มีทัศนคติดีงาม หรือมนุษย์ผู้ใช้ชีวิตอย่างสุขเกษมสำราญก็ตาม เหล่านี้มิใช่เป็นสิ่งที่ยากเกินไปกว่าที่เราจะให้เป็นไปได้ กล่าวคือ ความเป็นไปได้ของสวรรค์บนพื้นพิภพ ธรรมชาติผู้สร้างสรรค์ชีวิตได้มอบเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขตให้แก่มนุษย์ นี่คือสัจธรรม ส่วนพืชและสัตว์นอกเหนือจากมนุษย์ได้รับอิสรภาพแต่เพียงในขอบเขตจำกัดเท่านั้น ตรงจุดนี้คือ ความประเสริฐของมนุษย์
ความประเสริฐของมนุษย์
ถ้าถามว่าอิสรภาพของมนุษย์คืออะไร ก็พอจะชี้แจงได้ว่า มนุษย์เรานั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างทางเลือก 2 ทาง คือถ้าทำตนให้สูงส่งขึ้นก็จะเป็นเทพ แต่ถ้าทำตนให้ตกต่ำเลวทรามลงก็จะเป็นเดรัจฉาน ตามเหตุผลนี้ก็จะเป็นว่ามนุษย์จะดีหรือชั่ว ขึ้นอยู่กับการกระทำ จะถูกหรือผิด ถ้าจะหาเหตุผล ถ้าต่างฝ่ายต่างเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้ง แน่นอนเมื่อสิ่งหนึ่งถูก อีกสิ่งหนึ่งก็ต้องผิด และเมื่อยึดเอาถูก-ผิด เป็นที่ตั้งแล้วต่างฝ่ายก็จะหาเหตุผลมาสนับสนุนแนวความคิดของตัวเอง (ถึงแม้จะข้างๆ คูๆ บ้างก็ตามที) แบบไม่ยอมเปิดใจรับเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่งเลย
เรื่องที่จะเล่าเป็นนิทานเซน เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง “ถูก-ผิด” นี่แหละ เรื่องมีอยู่ว่า ที่วัดแห่งหนึ่งในทุกๆ เช้าก่อนฟ้าสาง พระทุกรูปจะต้องเดินไปทำวัตรสวดมนต์กันที่ศาลา มีพระรูปหนึ่งมักจะตื่นแต่เช้ามืด ก่อนเสียงระฆังจะปลุกเรียก แล้วก็รีบไปส่องไฟดูตามทางเดินที่จะไปยังศาลา เพื่อจับหอยทากที่คลานอยู่ตามทางเท้า แล้วเอาไปปล่อยเสียในที่ที่ปลอดภัยเพราะเกรงว่ามันจะถูกเหยียบตายตอนที่พระเดินไปทำวัตรสวดมนต์กัน ท่านทำอยู่อย่างนี้ทุกวันจนมีพระอีกรูปสังเกตเห็น พระรูปที่สองจึงถามพระรูปแรกว่า “ท่านทำอย่างนี้ไปทำไม” พระรูปแรกตอบว่า “เรามีชีวิตอยู่เพื่อประกอบความดีและทำบุญทำกุศลไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้ เราสงสารพวกหอยทากเหล่านั้นที่จะต้องมาจบชีวิตลงก่อนเวลาอันควร” พระรูปที่สองจึงค้านว่า “ท่านรู้ไหมที่ท่านทำอย่างนั้นนะมันเป็นการก่อกรรมทำเข็ญ ทำบาปทำกรรมให้เกิดแก่ชาวไร่ ชาวสวน โดยทั่วไป เพราะหอยทากที่ท่านช่วยสงวนพันธ์ุเอาไว้นั้น มันมีอยู่ทั่วไปหมด มันทำลายพืชผลของชาวไร่ ชาวสวนจนพวกเขากำจัดมันเสียเกือบจะหมดแล้ว เหลืออยู่แต่แหล่งเพาะพันธ์ุในวัดนี่แหละ”
พระอีกรูปหนึ่ง (รูปที่สาม) ซึ่งอยู่ตรงนั้นด้วย ก็พูดขึ้นกับพระรูปที่สองว่า “อย่าพูดแบบนั้นเลย การทึ่ท่านจับเอาหอยทากไปปล่อย (หมายถึงพระรูปแรก) ท่านก็ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อชาวไร่หรอกนะ ท่านกำลังปฏิบัติหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ต่างหาก เพราะท่านช่วยปลดปล่อยชีวิตสัตว์ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติและยังช่วยให้พวกเรามีชีวิตบริสุทธิ์ ไม่ต้องพลอยทำให้ชีวิตอื่นต้องตายไปเพราะเราอีกด้วย”
นอกจากพระรูปแรกกับพระรูปที่สองจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันแล้ว ก็ยังมีพระรูปที่สามที่มีความคิดแตกต่างออกไปอีก เมื่อความคิดความเห็นไม่เหมือนกัน ก็หาข้อสรุปไม่ได้ พระทั้งสามรูปจึงพากันไปหาเจ้าอาวาสให้ช่วยตัดสินว่า ความคิดเห็นใครจะถูกจะผิดอย่างไร เจ้าอาวาสนั่งฟังคำชี้แจงของพระทั้งสามรูปอย่างตั้งใจและพินิจพิจารณา พระรูปแรกชี้แจงว่า “ผมบวชเรียนมาในพระพุทธศาสนาก็มุ่งประกอบแต่กรรมดี ความดีแม้จะน้อยแต่หากหมั่นทำไปเรื่อยๆ มันก็จะมากขึ้นเหมือนหยดน้ำทีละหยด สักวันหนึ่งก็จะเต็มได้ และการที่ผมปลดปล่อยชีวิตสัตว์ก็เป็นไปด้วยกุศลจิตจะเป็นบาป เป็นโทษได้อย่างไรครับ”
ท่านเจ้าอาวาส “ถูก ถูก ถูกแล้ว”
พระรูปที่สองก็ชี้แจงบ้างว่า “ถ้าว่ากันโดยเจตนาแล้ว การที่ใครบางคนเดินไปเหยียบหอยทากตาย โดยมิได้เจตนา มันก็ไม่ใช่เป็นบาปเป็นกรรมอันใด และหากจะมองในมุมกว้างแล้วหอยทากเองก็เป็นภัยต่อชาวไร่และชาวสวนเป็นอันมาก เพราะมันทำลายพืชผลต่างๆ เสียหายหมดจนชาวบ้านต้องหาวิธีกำจัดมัน และถ้าวัดของเราเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หอยทาก มันจะไม่เป็นการก่อกรรมทำเข็ญกับชาวบ้านหรือครับ ท่านเจ้าอาวาสได้ฟังจบ”ถูก ถูก ถูกแล้ว”
พระรูปที่สามชี้แจงบ้างว่า “สัตว์ใดๆ ก็ตามแม้จะอยู่ในร่างที่ต่ำต้อยก็อยู่ตามธรรมชาติแห่งพุทธะและญาณปัญญาที่ลุกโพลงขึ้นเพียงวาบเดียว ผลกรรมใดๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ย่อมจะหลุดพ้นออกไปได้ ดังมหาโจรใจบาป หยาบช้า ก็ยังสามารถปลดเปลื้องกรรมอันมหันต์นั้นได้ ดังนั้น การบำเพ็ญธรรมโดยให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตใด โดยการเสียสละรับเป็นภาระทำให้ชีวิตนั้นหลุดพ้นไปตามทางอย่างนี้จะไม่เป็นการถูกต้องหรือครับ”
ท่านเจ้าอาวาสได้ฟังจบ “ถูก ถูก ถูกแล้ว” สามเณรน้อยที่นั่งพัดให้เจ้าอาวาสอยู่ เมื่อได้ฟังคำชี้แจงของพระทั้งสามรูปและได้ยินเจ้าอาวาส ตอบว่า ถูก ถูก ถูกแล้ว เหมือนกันหมด ก็อดรนทนไม่ไหว ขอแสดงความคิดเห็นบ้าง เจ้าอาวาสก็อนุญาติ สามเณรน้อยจึงกล่าวติงขึ้นว่า “หลวงพ่อก็ได้แต่พูดว่า ถูก ถูก ถูกแล้ว มันจะถูกกันไปหมดได้อย่างไร เมื่อมีอันหนึ่งถูก อันอื่นๆ มันก็ต้องผิดซิครับ” ท่านเจ้าอาวาสได้ฟังจบลง ก็แสดงความชอบใจ แล้วพูดว่า “เอ๊ะ นี่ก็ถูก ถูก ถูกแล้ว”
ท่านเจ้าอาวาส ที่ท่านตัดสินความคิดเห็นของพระทั้ง 3 รูปถูกหมด ท่านแสดงอุปนิสัยที่มีประนีประนอม ของจุดรวมเพื่ออยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์ ถึงจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ เหมือนกิ่งพุดพิชา เมื่อจัดมันเป็นกิ่งเดียวกัน แต่สามารถจัดลงไปในแจกันพร้อมกันด้วยลักษณะของกิ่งกิ่ง (กิ่งพุดพิชา ดอกกุหลาบ) ที่สนุกสนานโดยมีกุหลาบเป็นตัวเชื่อมเกิดความสวยงามขึ้น
ความประเสริฐของมนุษย์ รวบรวมและเรียบเรียงธรรมะดีๆ โดย พเยาว์